เมื่อมีการกำหนดความดันที่จำเป็นของระบบขึ้นมา ทำให้ท่อต้องมีขนาดที่ถูกต้อง ถ้าท่อมีขนาดเล็กเกินไป ก็มีไอน้ำไม่เพียงพอที่จะส่งความดันให้สูงเพียงพอที่จะผ่านเข้าไปในกระบวนการ แต่ถ้าท่อมีขนาดใหญ่มากเกินไปก็จะทำให้การสูญเสียความร้อนที่พื้นผิวเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าขนาดของท่อจะเล็กหรือใหญ่ไปก็ตามจะทำให้ประสิทธิภาพของระบบโดยรวมต่ำลง ขนาดของท่อไอน้ำที่เหมาะสม หมายถึงการเลือกท่อที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อให้มีความดันสูญเสียในท่อ (Pressure Drop) ต่ำสุดระหว่างหม้อไอน้ำและผู้ใช้ไอน้ำ
หลายปีที่ผ่านมาผู้ออกแบบและวิศวกรจะใช้ “วิธีปฏิบัติแบบอาศัยความชำนาญ” (Rule of Thumb) เพื่อกำหนดขนาดของท่อสำหรับการใช้ประโยชน์โดยเฉพาะ กฎเกณฑ์เหล่านี้ได้รับการประเมินผลจากสถานการณ์จริงและโดยทั่วๆ ไปก็ยังเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้ได้ดีอยู่
วิธีที่ง่ายที่สุดคือ การคำนวณอัตราความเร็ว (Velocity) ของไอน้ำในท่อเพื่อหาอัตราการไหลของน้ำ ข้อมูลที่ต้องการก็เพียงปริมาตรจำเพาะของไอน้ำ (Spcific Volume of Steam) สำหรับความดันของการจ่ายไอน้ำที่ใช้ ข้อมูลเหล่านี้สามารถหาได้จากตารางไอน้ำ องค์ประกอบอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องมีคือ คุณภาพของไอน้ำ ไม่ว่าจะเป็นไอน้ำเปียก (Wet) หรือไอน้ำร้อนยวดยิ่ง (Superheated) ก็ตาม สำหรับไอน้ำเปียก (Wet Steam) จะมีหยดน้ำซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดความเสียหายและเกิดการกัดกร่อน เมื่อหยดน้ำเหล่านี้ไปกระทบกับผนังท่อที่จุดโค้งงอหรือที่วาล์วและข้อต่อต่าง ๆ ไอน้ำร้อนยวดยิ่ง (Superheat Steam) จะไม่มีหยดน้ำและไม่มีแม้แต่การควบแน่นออกมาจากท่อ ดังนั้น ท่อจึงไม่เกิดความเสียหายจากหยดน้ำทำให้ท่อสามารถใช้งานที่ความเร็วสูงได้
แนวทางการปฏิบัติมีดังต่อไปนี้
- อัตราความเร็วของไอน้ำร้อนยวดยิ่ง = 50-70 เมตร/วินาที
- อัตราความเร็วของไอน้ำอิ่มตัว = 30-40 เมตร/วินาที
- อัตราความเร็วของไอน้ำเปียกหรืออัตราความเร็วของไอเสีย = 20-30 เมตร/วินาที
หลายปีมานี้มีแผนภูมิและตารางคำนวณค่ามากมายที่เผยแพร่ออกมาเพื่อใช้หาค่าความดันตกในระบบการจ่ายไอน้ำ และถึงแม้ว่าในปัจจุบันวิธีการเหล่านี้สามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์มาช่วยได้แล้วก็ตาม ผลที่ได้รับออกมาก็ยังเกี่ยวข้องกับช่วงความแตกต่างของอัตราความเร็ว (Velocity Bands) ซึ่งแผนภูมิและตารางคำนวณนี้ไม่เหมาะสมที่จะใช้สำหรับไอน้ำที่ความดันต่ำมาก (ต่ำกว่า 1.0 บาร์) และสำหรับไอน้ำที่ความดันสูงมาก (สูงกว่า 20.0 บาร์) แนวทางนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ ซึ่งมีความดันไอน้ำโดยปกติจะอยู่ระหว่าง 3.0 บาร์ถึง 17.0 บาร์
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า เหตุผลที่จะต้องคำนึงถึงเรื่องของเส้นผ่าศูนย์กลางของท่องานก็คือ ต้องการลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนและพื้นผิวแลกเปลี่ยนความร้อนให้น้อยที่สุด การใช้ท่อที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 75 มม. แทนท่อที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 50 มม. จะเพิ่มค่าใช้จ่ายในการลงทุนของท่อและการหุ้มฉนวนประมาณ 50% ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ค่าใช้จ่ายเป็นสัดส่วนโดยตรงต่อขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อ เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการสูญเสียความร้อนจากท่อก็เป็นสัดส่วนโดยตรงกับพื้นผิวภายนอกของท่อเช่นเดียวกัน ซึ่งก็หมายความว่าการสูญเสียความร้อนก็จะเพิ่มขึ้น 50% เมื่อเพิ่มขนาดท่อ